Learning Agility บทเรียนสำคัญของบุคลากร ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

ข้อดีของการมี Learning Agility
บุคคลที่มีทักษะ Learning Agility นันจะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคยได้ดีกว่าคนอื่น ในด้านของการทำงานในองค์กร พนักงานที่มีทักษะนี้จะสามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เข้ามาได้ดี ตัวอย่างเช่น เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารกับลูกค้า พนักงานคนดังกล่าวก็จะคิดหาแนวทางแก้ไขได้เร็วกว่าคนอื่นๆ หรือหากกระบวนการทำงานในบริษัทเปลี่ยนไปก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับกระบวนการใหม่ได้อย่างคล่องตัว
อีกทั้ง ทักษะนี้จะส่งผลให้บุคคลมีความ “Proactive” ที่จะไม่รอให้ปัญหาเกิดขึ้น แต่จะคิดวิธีป้องกัน วางแผน และเตรียมการแก้ปัญหาไว้ก่อน เป็นการทำงาเชิงรุก และเป็นคุณสมบัติที่หลายๆ องค์กรต้องการให้บุคลากรมี
ทำไม Learning Agility จึงสำคัญต่อองค์กร?
แนวคิด Learning Agility คือ การปรับเปลี่ยนการทำงานให้คล่องตัว รวดเร็ว และเห็นผลลัพธ์ในระยะเวลาอันสั้น ยังรวมไปถึงการที่บุคคลมีความต้องการศึกษาหาความรู้อย่างรอบด้านในหลายๆ แขนง และทำความเข้าใจ พร้อมทั้งเชื่อมโยงหลักการที่เป็นแก่นสำคัญแขนงต่างๆ เหล่านั้น โดยนำหลักการสำคัญจากการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญอยู่เดิม นำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
Dr. W. Warner Burke นักวิชาการจาก The Teachers College at Columbia University ได้กล่าวว่า ผู้ที่มี Learning Agility นั้น คือผู้ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบัน หรือก็คือการประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีได้อย่างรวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ
ยิ่งในช่วงปีแห่ง Disruption นี้องค์กรต่างๆ ต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บุคลากรต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องใช้ทักษะทางเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ และ Soft Skill เพื่อใช้รับมือกับปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ Learning Agility เป็นสิ่งที่องค์กรทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ


หลักพื้นฐานของ Agile Organization ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง?
นอกจากผู้นำองค์กรที่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่แล้ว ความสำคัญเรื่อง “การพัฒนาบุคลากรให้มีกรอบความคิดการคล่องตัว (Agile Mindset)” เปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานที่รวดเร็ว ให้ความอิสระในการตัดสินใจร่วมกับการพูดแบบ Public Speaking และสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อพัฒนาองค์กร นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญ ดังนี้
- ให้ความสำคัญกับบุคคลและการปฏิสัมพันธ์กันในทีมมากกว่าขั้นตอนและเครื่องมือ
- เน้นการส่งมอบผลงานที่ใช้ได้จริงมากกว่าเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์
- เน้นการร่วมมือทำงานกับลูกค้ามากกว่าการเจรจาให้เป็นตามข้อตกลง
- เน้นไหวพริบในการตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงมากกว่าการทำตามแผนที่วางไว้
แต่องค์กรหลายแห่งก็อาจจะไม่พร้อมสำหรับการทำงานแบบ Agile ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะลักษณะของงานอาจต้องใช้ระบบการทำงานแบบเดิมๆ ดังนั้นการสร้าง Agile Organization จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดถึงความพร้อมของบุคลากรที่จะต้องทำงานในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะหลักคิดของผู้บริหารระดับสูง ที่พร้อมให้ทีมงานสามารถตัดสินใจในการทำงานของตัวเองได้
องค์กรสามารถสนับสนุนให้เกิด Learning Agility จากอะไร?
นอกจากการที่ตัวบุคคลจะต้องพัฒนา Agility ด้วยตัวเองแล้ว องค์กรก็สามารถช่วยสนับสนุนในการพัฒนาได้ ดังนี้
- สื่อสารเป้าหมายภาพรวม สื่อสารให้บุคลากรรู้ถึงทิศทาง และเป้าหมายขององค์กรในการพัฒนาสู่การเป็น Aglie Organization
- กำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนารายบุคคล เช่นการใช้แบบประเมินเพื่อทบทวนผลการปฏิบัติงาน และเรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อเกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อไป
- ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Agile โดยเน้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ภายในองค์กร เช่น การเรียนรู้ข้ามสายงาน (Crossed-functional Learning), การหมุนเวียนงาน (Job Rotation) เพื่อเปิดโอกาสให้เห็นกระบวนการทำงานจากแผนกอื่นๆ ช่วยให้ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ข้อจำกัด ความยืดหยุ่นในการทำงาน
ในระดับองค์กร การสร้าง Learning Agility ให้กับบุคลากรถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่องค์กรทั่วโลกต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ยากต่อการคาดเดา องค์กรต้องการบุคลากรที่มีทักษะนี้ เพื่อรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น การสร้างทักษะเหล่านี้ไม่เพียงแต่จำเป็นกับบุคลากรระดับผู้บริหารเท่านั้น แต่ควรจะสร้างให้เกิดกับบุคลากรทุกระดับ เพื่อผลักดันให้เกิดความพัฒนาในระยะยาว
กรณีศึกษา (Case Study)
ในช่วงปี ค.ศ. 2017 - 2020 ที่ผ่านมานั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้วางแผนปรับตัวการทำงานขององค์กรอย่างหนัก เพื่อให้องค์กรมีความยืดหยุ่นในยุค Digital Distruption โดยนำแนวคิด Agile Organization ในการขับเคลื่อนองค์กร โดยเริ่มจากคณะผู้จัดการใหญ่ 4 คน ประกอบด้วย สารัชต์ รัตนาภรณ์, อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์, อรพงศ์ เทียนเงิน และ อารักษ์ สุธีวงศ์ ที่ถือเป็น First Agile Team โดยจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่แบบหมุนเวียน และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญในองค์กร ส่งเสริมพนักงานให้ลองผิดลองถูก (Learn Faster, Fail Faster) ตัดสินใจเองได้ตามสถานการณ์ มีความยืดหยุ่นสูง ตอบสนองความต้องการจากลูกค้าได้เร็ว ผลักดันการพัฒนาความสามารถใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในรูปแบบที่ต่างจากเดิม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ใช้ดาต้ามาช่วยดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานอีกด้วย เช่น การที่ CEO หรือคณะผู้บริหารไม่มีห้องทำงานเป็นของตัวเอง แต่สร้างพื้นที่การทำงานแบบ Co-Working Space แทน เพื่อเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมการทำงานใหม่แก่บุคลากรในธนาคารไทยพาณิชย์
อ้างอิง
ผ่าแนวคิด อาทิตย์ “SCB” เขย่าองค์กร สู่วิถี “Agile ทีม”